วัดต้าม่อน ตั้งอยู่เลขที่ ๙๙ หมู่ ๓ ห่างจากตัวเมืองแพร่ราว ๔๐ กิโลเมตร จุดเริ่มต้นของเรื่องราวประวัติศาสตร์หลายอย่างของเมืองแพร่ ทั้งภาพวาดสีฝุ่นบนผนังไม้สักทองทั้งหลังของจิตรกรรมเวียงต้า มีเรื่องราวต่างๆที่ถ่ายทอดของภาพวาดหลายอย่าง ที่มีเรื่องราวผูกพันธ์กันอันเชื่อมต่อจากวัดภูมินทร์ จ.น่าน เนื่องจากใช้ช่างวาดชุดเดียวกัน ปัจจุบันคงเหลือเพียงแต่เค้าโครงและร่องรอยแห่งอดีตเท่านั้น ว่ากันว่าในอดีต ที่นี่เป็นแหล่งไม้สักที่ดีที่สุดในโลกที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของนิยายรักอมตะของ เจ้าฮ้อยหลวงและเจ้าคำป้อ เจ้าหญิงแห่งเมืองน่าน ผู้สร้างตำนานจิตรกรรมเวียงต้าที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของชาดกเจ้าก๋ำกาดำ รวมถึง ภาพวาด อินายสีเว่ย หรือภาพโมนาลิซ่าเมืองไทย อันลือเลื่องทั่วดินแดนล้านนาสิ่งที่น่าสนใจของเวียงต้าไม่ได้แต่จิตรกรรมเวียงต้าเท่านั้น ที่นี่ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจของประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ นั่นคือขบวนการเสรีไทยในจังหวัดแพร่ และทั้งยังมีเรื่องราวของทหารญี่ปุ่นและสุสานทหารญี่ปุ่น อยู่ที่นี่อีกด้วยนับได้ว่าเวียงต้า น่าจะสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และประวัติศิลป์ได้เป็นอย่างดีในอนาคต
นางสีเวย เป็นหนึ่งในจิตรกรรมฝาผนังวัดต้าม่อน ถูกวาดขึ้นในปีพ.ศ. 2427 ระหว่างการสร้างวัดต้าม่อน และวิหารไม้สักทองโดยพ่อเจ้าฮ้อยหลวง (ต้นตระกูลรัตนภาค) เชื้อสายเจ้าฟ้าเชียงตุง เจ้าฮ้อยหลวงได้หาช่างฝีมือดีมาจากเมืองเชียงตุง เพื่อสร้างวัดต้าม่อน ภายในวิหารด้านข้าง ทั้ง 2 ด้าน ได้ให้ช่างวาดภาพพุทธประวัติ และนิทานธรรมะเรื่อง เจ้าก่ำกาดำ ไว้อย่างสวยสดงดงาม การก่อสร้างดำเนินไปเกือบจะแล้วเสร็จ แต่ต้องหยุดชะงักการก่อสร้างลง ด้วยเหตุผลน่าเศร้าสลดกล่าวคือ วันนั้นสล่าเก๊า (หัวหน้าช่าง) ได้ปีนขึ้นไปบนนั่งร้านเพื่อตกแต่งประดับหลังคาให้สวยงาม ซึ่งจะสำเร็จเรียบร้อยอย่างสมบูรณ์ ขณะที่กำลังปฏิบัติงานอยู่นั้นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อนั่งร้านที่คาดไว้อย่างแน่นหนาเชือกได้ขาดลง ทำให้หัวหน้าช่างร่วงลงสู่พื้นจากความสูงกว่า 10 เมตร ร่างลอยละลิ่วลงกระแทกพื้นอย่างแรงเสียชีวิตทันที เจ้าฮ้อยหลวงสั่งหยุดการก่อสร้างทันที ด้วยความเสียใจในอุบัติเหตุครั้งนี้ ทำให้สูญเสียช่างฝีมือเอกไป 1 คน จากการสอบสวนจึงรู้ว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจาก เพราะมีการกระทำผิดครูเก๊า(บรมครู) เนื่องจากมีเด็กของวัดต้าม่อนได้แอบไปขโมยกินมะพร้าวอ่อน ที่เป็นเครื่องเซ่นบูชาครูไว้ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
จิตรกรรมผนังวัดต้าม่อน เป็นฝีมือช่างชุดเดียวกันกับวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน คือ หนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ในปีพ.ศ. 2532 วิหารไม้เกิดการชำรุดทรุดโทรมไม่มีงบประมาณซ่อมแซม ชาวบ้านจึงได้ถวายให้กับไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันสิ่งที่หลงเหลือจากอดีตคงเหลือแค่แต่เพียงเสาวิหารไม้ และลายคำเพดานซึ่งยังคงมีสภาพสมบูรณ์เช่นในอดีต
ปัจจุบันจิตรกรรมเวียงต้าของดั้งเดิมอยู่ที่หอคำน้อย ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ส่วนภาพจำลองฉบับสมบูรณ์อีกชุด ถูกทำจัดทำขึ้นมาใหม่และได้จัดแสดงให้ชมที่พิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ อำเภอลอง จังหวัดแพร่
แหล่งอ้างอิงข้อมูล วัดต้าม่อน