เจ้าเมืองลำปางกับเจ้าเมืองแพร่ ได้มีการเจรจาแบ่งปันเขตแดนของทั้งสองเมือง เพราะยังไม่ได้แบ่งเขตกันอย่างชัดเจน โดยเจ้าเมืองทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้แต่ละฝ่ายเดินทางออกจากเมืองของตนในเวลาที่นกแซวร้อง เมื่อเดินมาพบกันที่ใดให้ถือว่าที่นั้นเป็นเขตแดนของ ทั้งสองเมือง ข้อตกลง ของเจ้าเมืองทั้งสองกลับมีปัญหาภายหลังเพราะไม่ได้ตกลงกันว่าจะถือเอาเวลา นกแซวร้องตอนเช้าหรือตอนเย็น เจ้าเมืองแพร่เข้าใจว่านกแซวร้องตอนเย็น แต่เจ้าเมืองลำปางถือเอานกแซวร้องตอนเช้า พอถึงวันนัดเจ้าเมืองลำปางก็ออกเดินทางจากเมืองในเวลานกแซวร้องตอนเช้าตรู่ เจ้าเมืองลำปางและบริวาร ออกเดินทางมาเป็นเวลานานและ เป็นระยะทางไกลมากแล้วก็ไม่มีทีท่าว่าจะพบกับเจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองลำปางจึงสั่งให้ไพร่พลหยุดรอถ้าเจ้าเมืองแพร่ที่บริเวณลำห้วยแห่งหนึ่งที่มีความเย็นใสและร่มรื่น ส่วนเจ้าเมืองแพร่และไพร่พลได้ออกเดินทาง ออกจากเมืองในเวลานกแซวร้องตอนเย็นวันนั้น เมื่อเดินทางมาถึงผาบ่องก็พบว่าเจ้าเมืองลำปาง ได้มารออยู่แล้ว เจ้าเมืองทั้งสองจึงถือเอาแนวผาบ่องเป็นเขตแดนของทั้งสองเมือง ฝ่ายเจ้าเมืองลำปางเห็นว่าบริเวณที่พักรอถ้า เจ้าเมืองแพร่มีทำเลเหมาะสมที่จะสร้างเมืองใหม่ยิ่งนัก จึงได้อพยพชาวเมือง บางส่วนมาสร้างเมืองขึ้นใหม่ และตั้งชื่อว่า “เมืองถ้า” เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ได้รอถ้าเจ้าเมืองแพร่ ต่อมาชาวเมืองได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เมืองต้า” และลำห้วยที่ผ่าน
เมืองเรียกว่าห้วยแม่ต้า จนถึงปัจจุบัน เมืองต้าเคยเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยก่อนถึงแม้ว่าจะไม่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ แต่จากหลักฐาน ทางโบราณวัตถุพบว่าเมืองต้ามีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่หลายตารางกิโลเมตร คูเมืองที่ปรากฏ อยู่คือเวียงปู บริเวณที่ตั้งเมืองปัจจุบันคือบ้านเวียง เจ้าเมืองที่ปรากฏชื่อพระยาอุปเสน (เจ้าเจนเมือง) เจ้าช้างงาปี๋ เจ้าคำแดง เจ้าคำฟุ่น เป็นต้น ทหารเอกของเมืองต้า คือ เจ้าแก้วฮองคอ และต่อมาเมืองต้าก็ได้ล้มสลายลงอันอาจเกิดจากถูกข้าศึกรุกราน เกิดโรคระบาด หรือการย้ายเมืองเพราะภาวะแห้งแล้ง จนในที่สุดเมืองต้าก็ตกเป็นเมืองร้าง วัดวาอารามถูกทำลายเพราะการขุดหาทรัพย์สมบัติ วัดต่าง ๆ ที่ปรากฏชื่อคือวัดสบปุ๋ง วัดม่อนลายคำ วัดเขาควาย วัดอุโมงค์ วัดบ่อแก่น เป็นต้น
ประวัติความเป็นมาของตำบลเวียงต้า
ที่ตั้งตำบลเวียงต้าสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณยุคหินใหม่ เพราะพบหลักฐานขวานหินอยู่ตามถ้ำต่าง ๆ ทั่วไป ชาวบ้านเรียกว่า เสียมตุ่น ขวานหิน ดังกล่าว ชาวบ้านได้นำมาเก็บรักษาไว้ส่วนใหญ่จะสูญหายไป หลังจากนั้นเมื่อประมาณ 1000 ปีมาแล้ว ชาวลั๊ว ได้เข้ามาตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนี้ สันนิษฐานว่าซากเครื่องปั้นดินเผา อาวุธโบราณ เครื่องมือการเกษตร และไหกระดูก ที่ชาวบ้านขุดพบโดยทั่วไป ร่องรอยกำแพงเมืองและคูเมือง ที่บ้านเวียงและที่เวียงปู นอกจากนั้นยังพบซากวัดร้างอยู่ในบริเวณนี้ประมาณ 10 วัด หลักฐานที่ชาวบ้านขุดพบจะเป็นพระเครื่องแต่ไม่พบซากอิฐ สันนิษฐานว่าวัดส่วนใหญ่ จะสร้างด้วยวัสดุไม้ วัดต่าง ๆ ที่ปรากฏชื่อคือ
1. วัดจอมแจ้ง อยู่บริเวณฝายสบทามปัจจุบันนี้ ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 5 กิโลเมตร
2. วัดสบปุง อยู่บริเวณกับป่าช้าบ้านแป้นปัจจุบัน
3. วัดไลย์คำ อยู่บริเวณฝายแม่ต้านอก เขตติดต่อบ้านเหล่า-บ้านแป้น
4. วัดโป่งแดง อยู่บริเวณทิศตะวันตกของสถานอนามัยบ้านเหล่า
5. วัดม่อนป่าแก่น อยู่บริเวณโรงเรียนบ้านเหล่า
6. วัดดงตาล อยู่บริเวณเหนือป่าช้าบ้านหัวฝาย
7. วัดเขาควาย อยู่บริเวณติดกับวัดต้าม่อน
8. วัดอุโมงค์ อยู่บริเวณวัดต้าเวียงปัจจุบัน
9. วัดป่าฝาง อยู่บริเวณบ้านผาลาย
10. วัดต้าแหลง อยู่บริเวณโรงเรียนบ้านแหลง
จากวัดต่าง ๆ เหล่านี้ชุมชนชาวลั๊วจะตั้งอยู่รอบๆ บริเวณวัด เป็นบริเวณประมาณ 10 กิโลเมตร สองฝั่งลำห้วยแม่ต้า และชาวลั๊วเป็นเผ่าที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ชนเผ่าลั๊วได้รับฉายาว่า “นักรบผี” คือชอบออกรบในตอนกลางคืน ตอนกลางวันจะซ่อนพรางตัวอยู่ในถ้ำจึงเป็นที่เกรงขามของศัตรู ทำให้สามารถรักษาชุมชนไว้ได้เป็นเวลานาน อาวุธของชาวลั๊วมี ลักษระพิเศษ คือ ปลายดาบจะงุ้มลงปลายตัก ยาวประมาณ 2 ฟุตครึ่ง และมีด้ามยาวเท่ากับ
ตัวดาบ สามารถใช้ฟันศัตรูจากบนหลังช้างได้
ต่อมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ. 2412 เจ้าฮ้อยหลวง เจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงเป็นชาวเงี้ยว ได้สมรสกับแม่เจ้าคำป้อ แห่งเมืองแพร่ มีลูก 4 คน เจ้าเมืองอินทร์ รัตนภาค เจ้าเมืองพรหม รัตนภาค แม่เจ้ายอด (ยอดคำ) และเจ้าแม่จอมศรี (มณีวงศ์) พร้อมด้วยข้าทาสบริวารชาวเงี้ยวพร้อมช้างกว่า 100 เชือก เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำ ไม้ให้กับบริษัททำป่าไม้ของอังกฤษ คือ บริษัทอิสต์เอเชียติก โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณบ้านม่อน หมู่ข้าทาสบริวารได้แยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานตามคุ้งน้ำต่าง ๆ สองฝั่งห้วยแม่ต้าเพื่อทำการชักลากท่อนซุงลงไปในลำห้วยแม่ต้าและคัดซุงที่ติดข้างฝั่ง ให้ไหลไปตามน้ำในฤดูน้ำหลาก
ลักษณะการปกครองของเวียงต้าเมื่อชุมชนต่าง ๆ ได้ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จึงได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเมือง ขึ้นตรงกับจังหวัดลำปาง มีพ่อเมืองเป็นผู้ปกครอง ในแต่ละปีจะต้องส่งส่วยให้เจ้าเมืองลำปาง คือ เหล็กจากบ่อต้า 1 ก้อนหนักประมาณ 5 กิโลกรัม และไม้สักขนาด 10 กำ ยาว 20 วา 1 ท่อน
รายนามพ่อเมืองเวียงต้ามีทั้งหมด 9 คน ดังนี้
1. พ่อเมืองแสนสุภา นางแก้ว
2. พ่อเมืองแสนอุด นางทิ
3. พ่อเมืองแสนต่างใจ นางเรียน
4. พ่อเมืองแสนเตชะ นางสา
5. พ่อเมืองแสนเมืองมา นางสุ
6. พ่อเมืองแสนเจิด นางเฮือน
7. พ่อเมืองแสนประจัญ นางสา
8. พ่อเมืองแสนใจ นางจ๋อย
9. พ่อเมืองขุนศิริ จอมใจ นางตอง
หลังจากนั้นมีการปฏิรูปการปกครอง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยุบเลิกเมืองต้าให้เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอลอง จังหวัดลำปาง ตำแหน่งพ่อเมืองยุบเลิก
ให้เป็นกำนัน รายนามกำนันของตำบลเวียงต้าดังนี้
1. กำนันขุนระบิน ปัญญาฉลาด
2. กำนันทิ ยอดคำ
3. กำนันวงศ์ ยานสกุล
4. กำนันบุญยืน ปัญญาฉลาด
5. กำนันศักดิ์สิทธิ์ ปัญญาฉลาด
6. กำนันบันดล ปัญญาฉลาด
7. กำนันศักดิ์สิทธิ์ ปัญญาฉลาด (รอบ2)
8. กำนันจรัญ ขันตา
9. กำนันบัญชา วิวัฒนาภักดี
10. กำนันสิทธิพร ปัญญาฉลาด (ปัจจุบัน)
ปี พ.ศ. 2475 ได้โอน ตำบลเวียงต้าและอำเภอลองมาขึ้นกับจังหวัดแพร่ ที่มาของชื่อหมู่บ้านต้าง ๆ ในตำบลเวียงต้า เมื่อชุมชนชาวเงี้ยวที่ตั้งอยู่สองฝั่ง ริมห้วยแม่ต้าขยายตัวมากขึ้นจากการอพยพเข้ามาเป็นลูกจ้างทำไม้และเข้ามาขายสินค้า มีการแต่งงานระหว่างคนเมืองกับชาวเงี้ยว จึงเกิดเป็นหมู่บ้านต่าง ๆ ขึ้น ตั้งชื่อหมู่บ้านตามสถานที่ตั้ง และมีชื่อต้านำหน้าทุกหมู่บ้าน ครั้งแรกมีจำนวน 7 หมู่บ้าน คือ ต้าแป้น ต้าเหล่า ต้าเวียง ต้าม่อน ต้าน้ำดิบ ต้าแหลงและต้าผาลาย เมื่อมีการตั้งเป็นตำบลได้ตั้งชื่อตามบ้านต้าเวียง แต่กลับเป็นตำบลเวียงต้า พร้อมกับให้เอาคำว่าต้านำหน้าชื่อบ้านต่าง ๆ ออก เพื่อป้องกันการสับสน และ ได้ยุบบ้านต้าเวียงรวมกับต้าม่อน
จึงเหลืออยู่ 6 หมู่บ้าน คือ บ้านแป้น บ้านเหล่า บ้านม่อน บ้านน้ำดิบหัวฝาย บ้านแหลง และบ้านผาลาย แต่ชื่อวัดต่าง ๆ ยังใช้ชื่อเดิม เช่น วัดต้าแป้น วัดต้าเหล่า วัดต้าเวียง และวัดต้าม่อน ในปี พ.ศ. 2534 บ้านน้ำดิบหัวฝาย แยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 7 บ้านหัวฝาย ปี พ.ศ. 2535 บ้านเหล่าแยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน
เป็นหมู่ที่ 8 บ้านเหล่าศรีภูมิ ปี พ.ศ. 2544 บ้านแหลง ได้แยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 9 บ้านแหลงสันติสุข และบ้านแป้น ได้แยกออกเป็น 2 หมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 10 บ้านแสนทอง ปัจจุบันตำบลเวียงต้าจึงมีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน คือ
1. หมู่ที่ 1 บ้านแป้น
2. หมู่ที่ 2 บ้านเหล่า
3. หมู่ที่ 3 บ้านม่อน
4. หมู่ที่ 4 บ้านน้ำดิบ
5. หมู่ที่ 5 บ้านแหลง
6. หมู่ที่ 6 บ้านผาลาย
7. หมู่ที่ 7 บ้านหัวฝาย
8. หมู่ที่ 8 บ้านเหล่าศรีภูมิ
9. หมู่ที่ 9 บ้านแหลงสันติสุข
10. หมู่ที่ 10 บ้านแสนทอง
ที่มาข้อมูล : อ.พิทักษ์ ปัญญาฉลาด
แหล่งที่มา http://www.wiangta.go.th